การที่เพเรลมัม ได้รับรางวัลจากการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเงินรางวัลที่เขาได้รับนั้นมากเหลือเกิน แต่เพเรลมัม ไม่

สนใจไม่แยแสกับเงินรางวัลนั้นเลย หลายคนมองว่าคนบ้าหรือเปล่า หรือว่าเขาโง่หรือเปล่าแต่สำหรับผมคิดว่าเขาไม่ได้บ้าและก็ไม่ได้โง่ แต่เขาอาจจะมีมุมมองหรือแนวความคิดที่แตกต่างกับคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ถ้าเราลองมองในทางพุทธศาสนาแล้ว พาเรลมัม ไม่สนใจเงินทองรักความสันโดษ รักอิสระ นั่นก็คือเขาสามารถละกิเลสที่หลายๆคนยังทำไม่ได้ผมว่าเขาไม่บ้าน่ะ แต่เขาคือ  "ผู้หลุดพ้น"

หากจะค้นหานักคณิตศาสตร์ที่ทำงานเพื่อคณิตศาสตร์จริงๆ โดยไม่หวังผลประโยชน์ “กริกอรี เพเรลมัน” คือคนที่เราสมควรกล่าวถึงเป็นคนแรกๆ เพราะเขาปฏิเสธรางวัลอันทรงเกียรติของชาวคณิตศาสตร์ไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และปีนี้ยังลังเลว่าจะรับรางวัลเกียรติยศจากสหรัฐฯ หรือไม่ หลังจากพิสูจน์ปัญหา 1 ใน 7 แห่งศตวรรษได้


ทั้งๆ ที่ไม่มีงานทำ และอาศัยอยู่กับแม่วัยชราในรัสเซีย แต่ “กริกอรี เพเรลมัน” (Grigory Perelman) นักคณิตศาสตร์ชาวรัสเซียวัย 43 ปี กลับลังเลว่าเขาต้องการเงินจากรางวัลมิลเลนเนียมไพรซ์ (Millennmium Prize) ซึ่งมอบให้โดยสถาบันคณิตศาสตร์เคลย์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Clay Mathematics Institute of Cambridge) รัฐแมสสาชูเสตต์ สหรัฐฯ หรือไม่

“เขาบอกว่าต้องพิจารณาก่อน” เอพีระบุคำให้สัมภาษณ์ของ เจมส์ คาร์ลสัน (James Carlson) จากสถาบันเคลย์ ผู้โทรศัพท์ไปแจ้งข่าวแก่เพอเรลมัน ซึ่งคำตอบที่ได้รับนั้น ไม่ได้สร้างความแปลกใจแต่อย่างใด เพราะเพเรลมันเคยปฏิเสธรางวัลใหญ่ของวงการคณิตศาสตร์อย่าง “ฟิลด์สมีดัล” (Fields Medal) มาแล้ว

เมื่อปี 2006 เพเรลมันกลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อเขาเลือกอยู่บ้านเฉยๆ ในเมืองเซนต์ปีเตอร์เบอร์ก รัสเซีย แทนการเข้ารับรางวัลฟิลด์สมีดัลที่กรุงมาดริด สเปน ทั้งๆ ที่รางวัลดังกล่าวเสมือนรางวัลโนเบลของวงการคณิตศาสตร์ ซึ่งมอบให้นักคณิตศาสตร์ในทุกๆ 4 ปี และไม่เคยมีใครปฏิเสธรางวัลมาก่อน

สำหรับรางวัลใหม่นี้เพเรลมันบอกกับสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า เขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับเงินรางวัลมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 33 ล้านบาทนี้หรือไม่ แต่สถาบันเคลย์ จะได้ทราบเรื่องนี้ก่อนใคร

“ผมรู้ว่าเวลานี้เพเรลมันกำลังใช้ความคิดว่าจะรับเงินรางวัลหรือไม่ ซึ่งเขายังพอมีเวลาอยู่บ้าง” เอพีรายงานความเห็นของเซอร์เก รุกชิน (Sergei Rukshin) ครูสอนคณิตศาสตร์ของเพเรลมันสมัย ม.ปลาย ซึ่งพิธีมอบรางวัลมิลเลนเนียมไพร์ซจะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้

ครูคณิตศาสตร์ของเพเรลมันบอกอีกว่า ตอนนี้ลูกศิษย์ของเขาว่างงานมา 4 ปีแล้ว แต่กลับปฏิเสธงานที่เสนอมาทั้งหมด โดยก่อนหน้านั้นลูกศิษย์เขาเคยทำงานที่สถาบันคณิตศาสตร์สเตคลอฟ (Steklov Mathematics Institute)

“หลังจากที่สื่อให้ความสนใจจำนวนมาก เขาก็ไม่ต้องการที่จะกลายเป็นบุคคลสาธารณะและไม่อยากจะดูเหมือนสัตว์ในสวนสัตว์”รุกชินกล่าว และบอกว่าเขาพยายามกระตุ้นให้เพเรลมันยอมรับเงินรางวัลนี้ เพื่อเลี้ยงชีพตัวเองและมารดาที่ชราภาพ

หากแต่ในทางเทคนิค ถือว่าเพเรลมันได้รับรางวัลนี้แล้ว ตามการตัดสินของคณะกรรมการ ส่วนจะรับเงินหรือไม่นั้น คาร์ลสันกล่าวว่าขึ้นอยู่กับตัวเพเรลมันเอง แต่ตัวแทนจากสถาบันเคลย์ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า จะทำอย่างไรกับเงินกว่า 30 ล้านบาทถ้าเพเรลมันไม่ยอมรับ

ขณะเดียวกันกลุ่มต่างๆ ในรัสเซีย ซึ่งรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St.Petersburg Communist Party) ได้อ้อนวอนผ่านสื่อ ให้เพเรลมันรับเงินรางวัลดังกล่าวและมอบให้แก่พวกเขา เพื่อนำไปใช้ต่อสู้กับความยากจนต่อไป หากเขาไม่ต้องการเงินก้อนนั้นเพื่อตัวเอง

ทั้งนี้เพเรลมันได้รับการยกย่องจากการพิสูจน์ปัญหา “การคาดการณ์ของปวงกาเร” (Poincare Conjecture) เป็นปัญหาในค้นหาว่า จักรวาลมีรูปร่างอย่างไร และเป็นปัญหาที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันเคลย์ให้เป็น 1 ใน 7 ปัญหาคณิตศาสตร์แห่งศตวรรษเมื่อปี 2000

ผู้ที่แก้ปัญหาได้ จะได้รับรางวัลมิลเลนเนียมไพรซ์ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 30 ล้านบาท และการคาดการณ์ปวงกาเรนี้ เป็นปัญหาแรกที่ได้รับการพิสูจน์ โดยเพเรลมันพิสูจน์ได้ในปี 2002 แต่ต้องใช้เวลาหลังจากนั้นอีก 3 ปีเพื่อพิสูจน์ว่าเขาถูกต้อง

เนื่องจากเพเรลมันไม่ต้องการออกสื่อ จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับเขาน้อยมาก และอาศัยข้อมูลจากคนรอบตัวเขา ครั้งหนึ่งสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นเคยไปทำสารคดีเกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์ผู้นี้ถึงรัสเซีย และได้พบเพียงร่องรอยของเขา ขณะที่เพื่อนบ้านของเพเรลมันเองยังมีโอกาสได้พบตัวจริงของเขาเพียงไม่กี่ครั้งในรอบหลายปี

ทามาระ เยฟิโมวา (Tamara Yefimova) ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมปลายของเพเรลมัน และได้รู้จักเขาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนให้ข้อมูลแก่เอพีว่า ช่วง ม.ปลาย เพเรลมันจัดเป็นนักเรียนอัจฉริยะที่สุด และเคยเป็นตัวแทนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก คว้าเหรียญทองมาได้ แต่เขากลับไม่ได้เหรียญทองจากการเรียน เพราะไม่ได้คะแนนสูงสุดในการเรียนวิชาพลศึกษา

หลังจากเรียนจบมัธยมแล้วเพเรลมันได้เข้าเรียนคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเลนินกราดสเตท (Leningrad State University) และศึกษาวิศวกรรมเครื่องกลที่สถาบันคณิตศาสตร์สเตคลอฟ เคยทำงานอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันว่างงาน เพราะต้องการใช้เวลากับการคิดแก้ปัญหาโจทย์ทางคณิตศาสตร์

ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า "พาเรลมัน" นักคณิตศาสตร์ผู้ชาญฉลาดและเก็บเนื้อเก็บตัวผู้นี้ จะตัดสินใจยอมรับเงินรางวัลอันยิ่งใหญ่าครั้งนี้หรือไม่