เส้นตั้งฉากนี้เราจะได้เรียนในชั้น ม.4 ในบทที่มีชื่อว่า เรขาคณิตวิเคราะห์ ครับ ซึ่งเรื่องเส้นตั้งฉากก็ไม่ยากครับส่วนใหญ่โจทย์ก็จะกำหนดความชันของเส้นตรงมาให้ แล้วก็ให้ตรวจสอบว่าเส้นตรงในแต่ละคู่นั้นเป็นเส้นตรงที่ตั้งฉากกันหรือไม่ซึ่งการตรวจสอบเส้นตั้งฉากก็สามารถตรวจสอบได้ตามทฤษฎีต่อไปนี้ครับ

ทฤษฎีบท  เส้นตรงสองเส้นที่ไม่ขนานกับแกน Y จะตั้งฉากกัน ก็ต่อเมื่อ ผลคูณของความชันของเส้นตรงทั้งสองเท่ากับ -1

อธิบายทฤษฏีบทนี้แบบง่ายก็คือสมมติมีเส้นตรงมาให้สองเส้นอยากรู้ว่าเส้นตรงสองเส้นนั้นตั้งฉากกันไหม ก็เอาความชันของเส้นตรงสองเส้นนั้นคูณกันดู ถ้าคูณกันแล้วผลลัพท์ออกมาเป็น -1  ก็แสดงว่าเส้นตรงคู่นั้นเป็นเส้นตรงที่ตั้งฉากกันครับ

มาดูตัวอย่างแบบฝึกหัดกันเลย

แบบฝึกหัด

1. เส้นตรง \(l\)  มีความชันเท่ากับ  \(\frac{3}{4}\)  เส้นตรงที่ตั้งฉากกับเส้นตรง  \(l\)  จะมีความชันเป็นเท่าไร

วิธีทำ  ข้อนี้ง่ายมากครับ   เส้นตรงที่จะตั้งฉากกับเส้นตรง \(l\)  ต้องมีความชันเท่ากับ  \(-\frac{4}{3}\)  เพราะว่าถ้าเราลองเอาความชันของเส้นตรงทั้งสองเส้นมาคูณกันดูจะได้ -1  ก็คือ \(\frac{3}{4}\times (-\frac{4}{3})=-1\)


2. จงหาความชันของเส้นตรงซึ่งตั้งฉากกับเส้นตรงซึ่งผ่านจุด (3,4) และ (-3,-5)

วิธีทำ  อันดับแรกต้องหาความชันของเส้นตรงซึ่งผ่านจุด (3,4) และ (-3,-5)   เพื่อความไม่งงผมให้ m เป็นความชันของเส้นตรงที่ผ่านจุด (3,4) และ (-3,-5)  ดังนั้น

\begin{array}{lcl}m&=&\frac{-5-4}{-3-3}\\&=&\frac{-9}{-6}\\&=&\frac{3}{2}\end{array}

ดังนั้นความชันของเส้นตรงซึ่งตั้งฉากกับเส้นตรงซึ่งผ่านจุด (3,4) และ (-3,-5)  มีค่าเท่ากับ \(-\frac{2}{3}\)  เพราะว่า   \(\frac{3}{2}\times -\frac{2}{3}=-1\)


3. ถ้าจุด P มีพิกัดเป็น \((a,b)\) และจุด Q มีพิกัดเป็น \((-b,a)\)  โดยที่  \(a^{2}+b^{2}\neq 0\)   จงแสดงว่าส่วนของเส้นตรง  \(OP\)  ตั้งฉากกับส่วนของเส้นตรง \(OQ\)  เมื่อ \(O\)  เป็นจุดกำเนิด

วิธีทำ  อย่าลืมนะ จุด \(O\)  เป็นจุดกำเนิด แสดงว่าจุด \(O\) มีพิกัดเป็น \((0,0)\)

กำหนดให้ \(m_{1}\) เป็นความชันของส่วนของเส้นตรง  \(OP\) ดังนั้น

\begin{array}{lcl}m_{1}&=&\frac{b-0}{a-0}\\&=&\frac{b}{a}\end{array}

กำหนดให้ \(m_{2}\)  เป็นความชันของส่วนของเส้นตรง  \(OQ\)  ดังนั้น

\begin{array}{lcl}m_{2}&=&\frac{a-0}{-b-0}\\&=&-\frac{a}{b}\end{array}

จะเห็นว่าความชันขอส่วนของ \(OP\) เมื่อนำมาคูณกับ ความชันของส่วนของเส้นตรง  \(OQ\) มีค่าเท่ากับ -1  ก็คือดังนี้

\begin{array}{lcl}m_{1}\times m_{2}&=&\frac{b}{a}\times -\frac{a}{b}\\&=&-1\end{array}

ดังนั้นส่วนของเส้นตรง  \(OP\)  ตั้งฉากกับส่วนของเส้นตรง  \(OQ\)


4. เส้นตรงซึ่งผ่านจุด \((k,7)\)  และ \((-3,-2)\)  ตั้งฉากกับเส้นตรงซึ่งผ่านจุด \((3,2)\)  และ  \((1,-4)\)  จงหาค่า  \(k\)

วิธีทำ  ข้อนี้หาความความชันของเส้นตรงแต่ละเส้นก่อนครับ

กำหนดให้  \(m_{1}\)  คือความชันของเส้นตรงที่ผ่านจุด \((k,7)\)  และ \((-3,-2)\)  ดั้งนั้น

\begin{array}{lcl}m_{1}&=&\frac{-2-7}{-3-k}\\&=&\frac{-9}{-3-k}\end{array}

กำหนดให้ \(m_{2}\)  คือความชันของเส้นตรงที่ผ่านจุด \((3,2)\)  และ  \((1,-4)\)  ดังนั้น

\begin{array}{lcl}m_{2}&=&\frac{-4-2}{1-3}\\&=&\frac{-6}{-2}\\&=&3\end{array}

จากโจทย์เขาบอกว่าเส้นตรงมันตั้งฉากกันแสดงว่า ความชันของเส้นตรงสองเส้นนี้คูณกันแล้วได้เท่ากับ -1 ดังนี้

\begin{array}{lcl}m_{1}\times m_{2}&=&-1\\\frac{-9}{-3-k}\times 3&=&-1\\\frac{-9\times 3}{-3-k}&=&-1\\\frac{-27}{-3-k}&=&-1\\-3-k&=&\frac{-27}{-1}\\-3-k&=&27\\-k&=&27+3\\-k&=&30\\k&=&-30\end{array}

ได้แล้วครับ ค่า \(k\)  ค่อยๆอ่านเรื่องนี้ไม่ยาก